งานพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เป็นวันที่สอง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (22 มี.ค.65) สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่สอง ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
.
โดยในวันนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่รู้ยิ่งในศาสตร์การเกษตร ได้รับการยกย่องเชิดชู เป็น “เกษตราภิชาน”ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 2 ราย เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรและเครื่องหมายเกษตราภิชาน ได้แก่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุธรรม อารีกุล คณะเกษตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก ปรีชานนท์ คณะวนศาสตร์
.
ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 3 ราย ได้แก่
นายเปรม ณ สงขลา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พืชสวน)
คณะเกษตร
รองศาสตราจารย์วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ทรัพยากรเกษตรและการจัดการการผลิต) คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร
พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ
ปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์คณะสาธารณสุขศาสตร์
.
ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 3 ราย ได้แก่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณจริยา จันทร์ไพแสง สาขาวิชา กีฏวิทยา คณะเกษตร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเลขา มาโนช สาขาวิชา โรคพืช คณะเกษตร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุดฤดี ประเทืองวงศ์ สาขาวิชา โรคพืช คณะเกษตร
.
จากนั้นพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ในระดับปริญญาเอก โท ตรี จำนวน 1,302 คน จากคณะเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร คณะวนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระโอวาท มีใจความต่อจากวันแรก เกี่ยวกับการสร้างความเจริญมั่นคงในหน้าที่การงาน จะต้องรู้จักนำความรู้ไปปรับใช้ให้เข้ากับงาน เหมาะแก่สถานการณ์และสภาพแวดล้อม ว่า
การมีคุณธรรมประจำใจนั้น ทำให้คนเรามีพื้นฐานจิตใจที่ดี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์ความสำเร็จ บุคคลที่มีความสุจริต มีความตั้งใจจริง อุตสาหะอดทน เมตตาเสียสละ และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์เฉพาะตน ย่อมประพฤติตนปฏิบัติงานไปในทางที่ดีที่ถูกต้องอยู่เสมอ จนบรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ จึงขอให้บัณฑิตหมั่นสร้างสมอบรมคุณธรรมประจำใจ ให้เป็นผู้มีพื้นฐานจิตใจที่ดีพร้อม